วันพฤหัสบดีที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2560

คำทักทายในภาษาเวียดนาม




คําทักทายภาษาเวียดนาม

คําทักทายภาษาเวียดนาม : มาเรียนรู้เรื่องศัพท์ คำทักทาย แบบง่าย ๆ คำศัพท์ที่พบและใช้ในชีวิตประจำวันบ่อย ๆ

xin chào (ซิน-จ่าว) แปลว่า สวัสดี คำนี้เป็นคำทักทายสุดฮิตที่ใช้ได้ทั่วไปในชีวิตประจำวันของเวียดนาม ใช้สำหรับการทักทายในการเริ่มต้นรู้จักกัน และใช้ทักทายทั่วไปหลังจากที่รู้จักกันแล้ว เหมือนกับที่เราใช้คำว่า “สวัสดี” นั่นเอง
อันที่จริงเวลาเราทักทายชาวเวียดนามทั่วๆ ไป เราใช้คำว่า chào (จ่าว) คำเดียวก็ได้ ซึ่งคำว่า “จ่าว” นี้โดยศัพท์ก็มีความหมายว่าเป็นการทักทายหรือสวัสดีอยู่แล้ว แต่ที่เราเห็นการใช้คำว่า “ซิน-จ่าว” ก็เพื่อให้มีความสุภาพขึ้น บางทีคำว่า “ซิน-จ่าว” ก็จะใช้ในสถานการณ์ที่ดูเป็นทางการหน่อย
คำว่า xin (ซิน) ที่เติมเข้าไปข้างหน้าคำว่า chào (จ่าว) นี้ เป็นคำที่ช่วยทำให้วลีหรือประโยคที่เราพูดมีความสุภาพมากขึ้น โดยรากศัพท์คำว่า “ซิน” นี้แปลว่า “ขอ” หากแปลตามศัพท์ก็จะแปลว่า (ขอ)สวัสดี ฟังดูเหมือนแปลกๆ ดังนั้นเวลาแปลจริงๆ เราจะแปลว่า “สวัสดี” เฉยๆ แต่เป็นที่รู้กันว่า “ซิน-จ่าว” เป็นสวัสดีที่สุภาพและเป็นทางการ มักจะได้ยินเวลาผู้ประกาศข่าวกล่าวสวัสดี หรือใช้ในภาษาเขียนมากกว่าภาษาพูดแบบทั่วไป
โดยทั่วๆ ไป หากชาวเวียดนามทักทายกันเอง ก็มักจะใช้คำว่า chào (จ่าว) เฉยๆ แต่จะประกอบกับประธานและกรรมของประโยค ซึ่งชาวเวียดนามมักจะดูที่สถานภาพของคู่สนทนาเป็นหลัก เช่น ระหว่างผู้พูดกับผู้ฟัง ใครมีอายุมากกว่ากัน ใครทำงานอะไร เป็นต้น
สามประโยคที่ให้ตัวอย่างต่อไปนี้เราก็ต้องดูก่อนว่าใครดูอาวุโสกว่ากัน
Anh chào em. (แองห์-จ่าว-แอม)
Em chào anh. (แอม-จ่าว-แองห์)
Em chào chi. (แอม-จ่าว-จิ)
หากได้ทักทายเป็นที่รู้จักกันแล้วตามที่เราได้ลองพูดแบบเต็มประโยค วันต่อๆ มา เราก็ทักทายกันแบบที่ฟังดูว่าเราคุ้นเคยกันมาแล้ว ด้วยการละประธานประโยคออกได้ เหลือเพียงแค่
Chào em. (จ่าว-แอม) สำหรับทักทายคนที่มีอายุน้อยกว่าเราไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง
Chào anh. (จ่าว-แองห์) สำหรับทักทายคนที่มีอายุมากกว่าเราที่เป็นพี่ชาย
Chào chi. (จ่าว-จิ) สำหรับทักทายคนที่มีอายุมากกว่าเราที่เป็นพี่สาว
แต่อย่าลืมว่าการทักทายแบบนี้สำหรับคนที่คุ้นเคยกันแล้วมากๆ ที่สำคัญอย่าเผลอพูดแค่คำว่า chào (จ่าว) ขึ้นมาลอยๆ แต่ถ้าจะใช้เฉพาะ xin chào (ซิน-จ่าว) ขึ้นมาลอยๆ ก็ยังถือว่ารับฟังกันได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น